‘มาริเอะ คนโด‘ หรือบางทีก็จะเรียกกลับกันว่า ‘คนโด มาริเอะ’ สาวญี่ปุ่นวัย 35 ปีที่รักการจัดบ้านตั้งแต่เด็ก และทำให้เธอเดินทางมาถึงจุดที่ Netflix ถ่ายทอดซีรีส์ชุด “Tidying Up with Marie Kondo” จำนวน 8 ตอนไปเมื่อต้นปี 2020 นั่นจึงทำให้กระแสวิธีการจัดบ้านแบบ KonMari กลายเป็นกระแสขึ้นมา
นอกจากกระแสดังกล่าวแล้วในงาน Cannes Lion 2019 ที่ผ่านมา เธอยังได้ขึ้นเวทีพร้อมกับสามีเพื่อพูดคุยในหัวข้อ “Less Stuff,More Joy: Life-Changing Japanese Creativity” รวมไปถึงเมื่อปี 2015 นิตยสารไทม์ (TIME) ยังยกให้เธอเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลของโลก เนื่องจากหนังสือเกี่ยวกับทฤษฎีการจัดบ้านของเธอนั้นติดอันดับหนังสือขายดี เห็นได้ว่าสาวญี่ปุ่นตัวเล็กๆ ที่หลงใหลการจัดบ้านมาแต่ไหนแต่ไร ความหลงใหลของเธอกลับพาชีวิตเธอไปไกลเกินกว่าที่หลายๆ คนจะคิดได้
หลักการเก็บบ้านสไตล์ KonMari มีดังนี้
- เก็บรวดเดียวให้เสร็จ ถ้าคุณเก็บบ้านวันละนิดวันละหน่อย คุณจะต้องเก็บบ้านไปตลอดชีวิต และวิธีการเก็บรวดเดียวให้เสร็จ จะสร้าง “ความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด” กับชีวิตคุณ จนคุณจะไม่ยอมให้บ้านคุณรกอีกเลย ทั้งนี้ การเก็บรวดเดียวให้เสร็จไม่ได้หมายความว่าต้องเก็บวันเดียวเสร็จ แต่อาจจะทำสามวันติดต่อกัน หรือวันเสาร์สามเสาร์ติดต่อกันก็ได้ เพราะขนาดห้อง/บ้านแต่ละคนไม่เท่ากันอยู่แล้ว
- ให้ถือว่าการเก็บบ้านเป็นวาระพิเศษ เหมือนกับที่เราให้การไปเที่ยวต่างประเทศหรือการจัดงานวันเกิดเป็นเหตุการณ์พิเศษ (special occasion) ที่เราต้องเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อม
- ให้จัดบ้านตามหมวดหมู่ ไม่ใช่จัดตามห้อง เพราะมีความเสี่ยงสูงว่าของอย่างเดียวกันจะมีที่เก็บมากกว่าหนึ่งที่ ซึ่งนั่นจะนำมาซึ่งความยุ่งยากในภายหลังอย่างแน่นอน
สองขั้นตอนหลักในการเก็บบ้านแบบ KonMari คือการคัดของออกและการจัดเก็บของเข้าที่
เพราะถ้าคุณไม่คัดของทิ้งซะก่อน รับรองเลยว่าบ้านคุณจะกลับมารกอีกครั้งแน่นอน เพราะสาเหตุหลักที่บ้านเรารกก็เพราะเรามีของเยอะเกินไป ไม่ใช่เพราะเรามีพื้นที่จัดเก็บน้อยเกินไป
วิธีการคัดของออกควรจะเรียงตามนี้ คือเริ่มจากเสื้อผ้า ต่อด้วยหนังสือ ตามด้วยเอกสาร ต่อด้วยของจิปาถะ และจบท้ายด้วยของที่มีคุณค่าทางจิตใจเช่นจดหมายหรืออัลบั้มรูป เพราะถ้าเราคัดของโดยไม่เลือกประเภทเสียก่อน สิ่งที่เราจะเจอคือรูปเก่าๆ หรือจดหมายเก่าๆ แล้วเราก็จะใช้เวลามากมายไปกับการละเลียดความหลัง กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็ผ่านไปครึ่งชั่วโมงแล้ว ทำให้การเก็บของล่าช้าไปมาก ทางที่ดีคือถ้าเราเจอสมบัติอะไรที่มีคุณค่าทางจิตใจ ให้เราเอาไปกองรวมกันเอาไว้ แล้วค่อยมาจัดการทีหลังสุด เพราะพอถึงตอนนั้น “กระดูกเราจะแข็งพอ” เพราะเราได้ฝึกฝนผ่านการทิ้งของอื่นๆ ที่ง่ายกว่าอย่างเสื้อผ้า หนังสือและเอกสารมาแล้ว
วิธีการคัดของออกแบบ มาริเอะ คนโด
วิธีการคัดของแบบเก่าๆ ของเราไม่เวิร์ค เพราะเราเลือกว่าจะทิ้งอะไร แทนที่จะเลือกว่าจะเก็บอะไรไว้ วิธีสองแบบนี้ดูจะเหมือนกัน แต่จริงๆ แล้วไม่เหมือนกันเลย วิธีการเลือกของที่จะทิ้งจะทำให้เราไม่มีความสุข แต่ถ้าเราเลือกว่าจะเก็บเฉพาะของที่ทำให้เราชื่นใจ เราจะมีความสุข ไม่เชื่อลองดูได้
- เสื้อผ้าประเด็นใหญ่่ยังไงก็ต้องจัดการก่อน
เอาเสื้อผ้าทั้งหมดมากองรวมกันเพื่อที่จะรู้ว่าเรามีเยอะแค่ไหนแทนที่จะเลือกว่าจะทิ้งเสื้อผ้าตัวไหน ให้เลือกว่าจะเก็บตัวไหน โดยหยิบเสื้อผ้าขึ้นมาทีละชิ้น แล้วถามว่า “มันทำให้เราชื่นใจรึเปล่า”เสื้อผ้าตัวไหนที่มันไม่ได้ทำให้เราชื่นใจแล้ว ให้กล่าวขอบคุณมันแล้วส่งมันไปตามทาง
ขอเตือนอีกข้อหนึ่ง เวลาที่เราคัดว่าจะเก็บอะไร จะทิ้งอะไร อย่าให้คนในครอบครัวเห็น เพราะอาจจะทำให้เขารู้สึกเสียดายแทนเรา และเขาจะขอเก็บเอาไว้เอง ซึ่งนั่นจะทำให้ปัญหาคาราคาซัง
เมื่อเราคัดเสื้อผ้าเสร็จแล้ว ก็ถึงคราวจัดเก็บเข้าที่ มาริเอะแนะนำว่า เสื้อผ้าส่วนใหญ่ของเราควรจะใช้วิธีพับเก็บ ยกเว้นพวกเสื้อผ้าที่น่าจะแฮปปี้กว่าถ้ามันโดนแขวน
หลักการสำคัญคือควรจะพับเพื่อให้มันวางตั้งบนสันได้ ซึ่งขอเตือนไว้เลยว่าถ้าไม่ลองดูวีดีโอให้เข้าใจก่อน มีโอกาสสูงมากที่คุณจะพับผิดวิธีและพอจัดเสร็จแล้วผ้าจะล้มดูไม่งามตา
ข้อดีของการพับเสื้อและถุงเท้าแบบนี้ก็คือแค่มองปราดเดียวก็รู้เลยว่ามีเสื้อผ้าอยู่เท่าไหร่ และมีลายไหนบ้าง ข้อเสียก็คือมันอาจจะขาดความยืดหยุ่น เพราะกล่องหนึ่งก็ใส่ได้แค่ไม่กี่ชิ้น ถ้ากล่องหมดก็ไปต่อไม่ได้แล้ว แต่นั่นก็อาจจะทำให้เรากลับมาทบทวนว่าเสื้อผ้าที่เราพยายามจะยัดลงกล่องอยู่นั้น มัน spark joy ทุกตัวแน่แล้วเหรอ
- หนังสือเอาเท่าที่อยากอ่านจริง
เมื่อเราจัดการกับเสื้อผ้าเสร็จแล้ว ก็ถึงเวลาจัดการกับหนังสือ เอกสาร ของจิปาถะ และของที่มีคุณค่าทางจิตใจตามลำดับ วิธีการก็เหมือนเดิม คือเอาหนังสือทั้งหมดมากองรวมกันไว้ เพื่อให้รู้ว่าเรามีหนังสือเยอะแค่ไหน หนังสือหลายสิบเล่มที่เราคิดว่าจะเก็บเอาไว้อ่าน “วันหลัง” ถ้าเราไม่หลอกตัวเองเราก็จะรู้ดีว่า “วันหลังไม่มีวันมาถึง” แทนที่จะเก็บหนังสือที่เรารู้อยู่แก่ใจว่าคงไม่ได้อ่าน สู้เราส่งต่อมันไปถึงมือคนที่จะได้ใช้ประโยชน์จากมันดีกว่า เพราะหนังสือบางเล่มก็เลยเวลาที่เราจะอ่านมันมามากโขแล้ว หนังสือประเภทเดียวที่เราจะเก็บคือหนังสือที่ทำให้เราชื่นใจ ซึ่งเมื่อเราใช้วิธีนี้ก็จะมีโอกาสสูงขึ้นที่เราจะได้อ่านหนังสือที่เราอยากจะอ่านจริงๆ
- ทิ้งเอกสารทุกชิ้น ยกเว้นที่ต้องใช้จริงๆ เท่านั้น
ในแง่เอกสาร มาริเอะบอกว่า หลักการง่ายๆ คือ “ทิ้งเอกสารทุกชิ้น ยกเว้นที่ต้องใช้จริงๆ เท่านั้น พวกเอกสาร Manual ต่างๆ มาริเอะบอกให้ทิ้งไปได้เลย เพราะเรา google เอาได้อยู่แล้ว ส่วนกล่องที่มากับของมาริเอะก็บอกให้ทิ้งเช่นกัน บางคนเก็บกล่องเพราะหวังว่าจะช่วยให้ได้ราคาดีขึ้นเวลาเราเอาของไปขายต่อ แต่ถ้านับพื้นที่ที่เราต้องเสียไปกับการเก็บกล่องที่ไม่ได้ใช้ จะเห็นได้เลยว่า ค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปกับพื้นที่เหล่านั้น เยอะกว่าเงินที่จะได้มาในอนาคตจากการขายของโดยมีกล่องค่อนข้างแน่นอนลูกค้าบางคนของมาริเอะทิ้งเอกสารบางอย่างไป แล้วพอต้องใช้อีกครั้ง เขาก็รู้ชัดว่าเอกสารพวกนี้ไม่มีแล้ว เขาจึงสามารถหาวิธีการแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่นต่อไปเลย ไม่ต้องมาเสียเวลามาหาเอกสารอยู่
– ของจิปาถะ เอาไว้ที่ได้ใช้ไม่เปลืองพื้นที่เก็บ
เมื่อจบเรื่องเอกสารแล้ว ก็ค่อยลงมือกับของจิปาถะ เช่น ซีดี อุปกรณ์ครัว แบงค์ เหรียญ อุปกรณ์ในห้องน้ำ ซึ่งแน่นอนว่าคุณต้องเอาทุกอย่างมากองไว้ในที่เดียวเพื่อที่จะได้รู้ว่าคุณมีของเหล่านี้เยอะเกินความจำเป็นแค่ไหน บางคนชอบแพ้ของลดราคา ซึ่งมักจะมาเป็นแพ็ค ซึ่งมาริเอะบอกว่าไม่คุ้มกันหรอก เพราะกว่าคุณจะได้ใช้ชิ้นหลังๆ ในแพ็ค ของก็เสื่อมคุณภาพ ไม่น่าชื่นใจอีกต่อไปแล้ว สู้ซื้อมาเท่าที่จำเป็นจริงๆ ดีกว่า จะได้ไม่ต้องเปลืองพื้นที่ในการเก็บ และถ้าจำเป็นต้องซื้อใหม่จริงๆ แค่เดินไปปากซอยหรือขับรถไปนิดหน่อยก็หาซื้อได้แล้ว
– ของประเภทสุดท้ายที่เราต้องเจอ ก็คือสิ่งที่มีคุณค่าทางจิตใจ
เช่นอัลบั้มรูปหรือจดหมาย จงจัดการของพวกนี้ต่อเมื่อคุณจัดการที่เหลือหมดเรียบร้อยแล้ว เพราะอัลบั้มรูปและจดหมายนั้นเป็น “ตัวบอส” ซึ่งยากต่อการตัดใจอย่างมาก คุณจึงต้องผ่านด่านเสื้อผ้า หนังสือ เอกสาร และของจิปาถะก่อน วิธีการก็เช่นเดิม เอามันมากองรวมกัน หยิบขึ้นมาทีละชิ้น แล้วถามว่าม้นยัง spark joy อยู่มั้ย
ของพวกนี้มีคุณค่า และเราไม่อยากทิ้งมันไปเพราะมันช่วยให้เรานึกถึงอดีตอันหอมหวาน และเราก็กลัวว่าถ้าเราทิ้งรูปเหล่านี้ไป เราก็จะลืมเรื่องเหล่านี้ไปด้วย แต่มาริเอะบอกว่า ความทรงจำอันล้ำค่าจริงๆ ของเรา ต่อให้ไม่มีรูปถ่ายเหล่านี้ เราก็ยังจะจำมันได้อยู่ดี
ถ้าเราอยากจะคัดรูปเก็บไว้ ก็ควรจะคัดแต่รูปที่ spark joy เท่านั้น สมมติการไปเที่ยวครั้งนี้มีรูป 36 รูป เราอาจจะคัดรูปที่ดีที่สุดเพียงสามสี่รูป ก็เพียงพอแล้วที่จะช่วยให้เรานึกถึงทริปคราวนี้ได้ มาริเอะบอกว่าวิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้เราปล่อยวางได้มากขึ้นก็คือ จงให้ความสำคัญกับตัวเราในปัจจุบันแทนที่จะให้ความสำคัญกับสิ่งที่เราเคยเป็นในอดีต
ของอีกชนิดนึงที่เรามักไม่กล้าทิ้ง คือของที่คนอื่นให้มา อาจจะเป็นของขวัญจากผู้ใหญ่ ของฝากจากเพื่อนสนิท หรือรูปวาดของลูกสมัยเขายังเด็ก ถ้าเราทิ้งของเหล่านี้ เราก็จะรู้สึกผิดทันที มาริเอะก็สอนอีกเช่นกันว่า จงดูให้ดีว่าเจตนารมณ์ของสิ่งของเหล่านี้คืออะไร ของพวกนี้คือ “ของขวัญ” ดังนั้น วัตถุประสงค์ของมันคือการ “ถูกรับ” ในเมื่อเราในฐานะ “ผู้รับ” ได้รับมันมาแล้ว ได้รู้สึกดีและรู้สึกขอบคุณในความเอื้อเฟื้อ/ความใส่ใจของผู้ให้แล้ว ของขวัญชิ้นนั้นก็ได้ทำหน้าที่ของมันอย่างเสร็จสมบูรณ์แล้วเช่นกัน เมื่อเข้าใจเช่นนี้ เราก็ย่อมกล่าวอำลากับของขวัญเหล่านี้ได้โดยไม่ต้องรู้สึกผิดอะไร
การที่เราไม่ยอมทิ้งของสิ่งใดสิ่งหนึ่งไป ทั้งๆ ที่มันไม่ได้ spark joy แล้ว มันมีเหตุผลเพียงสองข้อเท่านั้นคือ
1. ยึดติดกับอดีต
2. กังวลกับอนาคต
ซึ่งทั้งสองเหตุผลนี้จะเบียดบังไม่ให้เรามีความสุขกับปัจจุบันได้อย่างเต็มที่ การจัดบ้านให้เรียบร้อย จึงเป็นการเดินทางของจิตวิญญาณ ปลดปล่อยตัวเองจากอดีต และมั่นใจว่าจะสามารถรับมือกับอะไรก็ตามที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วยความไว้ใจในชีวิตเช่นนี้เท่านั้น ที่จะทำให้เราใช้ชีวิตกับปัจจุบันได้ดีที่สุด